RSS Feed

หมู่ช่างรัก

ยางรัก ๑๐๐‰

รูปภาพ ยางรัก ๑๐๐‰

 คำว่า “ช่างรัก” เป็นคำเรียกช่างประเภทหนึ่ง ซึ่งอาศัย “รัก” เป็นวัตถุปัจจัยสำคัญ สำหรับประกอบงาน ศิลปกรรม เนื่องด้วยการตกแต่ง ที่ลักษณะของงานเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป หรือ มัณฑนศิลป เป็นต้น

รัก หรือ ยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับพื้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ประสงค์จะทา หรือ ถมทับ หรือ เคลือบผิวได้ดี มีคุณสมบัติที่ทำให้ผิวพื้นซึ่งทา หรือ เคลือบรัก เป็นผิวมันภายหลังรักแห้งสนิท มีคุณภาพคงทนต่อ ความร้อน ความชื้น กรด หรือ ด่างอ่อนๆ และ ยังเป็นวัสดุที่ใช้เชื่อมสมุก หรือ สีเข้าด้วยกัน เชื่อมระหว่างผิวพื้นกับวัสดุ สำหรับตกแต่ง เช่น กระจกสี เปลือกหอย และ ยังใช้ผสมสีเข้าด้วยกัน มาแต่โบราณกาล งานศิลปกรรมที่ประกอบด้วยรัก ลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่กล่าวมานี้ เรียกว่า“เครื่องรัก” หรือ “งานเครื่องรัก”

“รัก” เป็นชื่อยางไม้ชนิดหนึ่ง เป็นวัสดุที่ได้จาก “ต้นรัก” [lac tree (ภาษาพฤกษศาสตร์ ; melanorrhoea usitata)] คือ ต้นไม้ยืนต้นขนาดย่อม การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีด หรือ สับด้วยมีดที่ลำต้นรัก ให้เป็นรอยยาวๆ ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีด หรือสับนั้น นำภาชนะเข้ารองรับน้ำยางรักเป็นคราวๆ เก็บรวบรวมไว้ ใช้งานตามขนาดที่ต้องการ ยางรักนี้บางแห่งเรียกว่า “น้ำเกลี้ยง” หรือ “รักน้ำเกลี้ยง” ก็มี “รัก หรือ ยางรัก” แต่ละชนิดที่ช่างรัก ใช้ประกอบงานเครื่องรัก มีคุณลักษณะดังนี้

  1. รักดิบ คือ ยางรักสด ที่ได้จากการกรีด หรือ สับจากต้นรัก ลักษณะเป็นของเหลวสีขาว เมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งจะ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และ จะกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ รักดิบนี้จะต้องผ่านการกรองให้ปราศจากสิ่งสกปรกปะปน และ จะต้องได้รับการขับน้ำที่เจืออยู่ตามธรรมชาติในยาง ให้ระเหยออกตามสมควรก่อน จึงนำไปใช้ประกอบงานเครื่องรัก
  2. รักน้ำเกลี้ยง คือ รักดิบที่ผ่านการกรอง และ ได้รับการขับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า “รักน้ำเกลี้ยง” เป็นวัสดุพื้นฐาน ในการประกอบงานเครื่องรักชนิดต่างๆ เช่น ผสมสมุก ถมพื้นทาผิว
  3. รักสมุก คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับ “สมุก” มีลักษณะเป็นของเหลวค่อนข้างข้น ใช้สำหรับอุดแนวทางลงพื้น และ ถมพื้น
  4. รักเกลี่ย คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า “สมุกดิบ” ใช้เฉพาะงาน อุดรูยาร่อง ยาแนวบนพื้นก่อนทารัก สำหรับปิดทองคำเปลว
  5. รักเช็ด คือ รักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้น และเหนียว จัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือ เช็ดลงบนพื้นแต่บางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว หรือ ทำชักเงาผิวหน้างานเครื่องรัก
  6. รักใส คือ รักน้ำเกลี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีสกัดให้สีอ่อนจาง และเนื้อโปร่งใสกว่ารักน้ำเกลี้ยง สำหรับใช้ผสม สีต่างๆ ให้เป็นรักสี

รัก แต่ละชนิดดังที่ได้แนะทำให้ทราบนี้ ล้วนมีที่มาจาก “รักดิบ” อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น รัก แต่ละชนิดจะมีคุณภาพ มากหรือน้อยก็ดี นำมาประกอบงานเครื่องรักแล้วจะได้งานที่ดี มีความคงทนถาวรเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ พื้นฐานของรักดิบ ที่ช่างรักรู้จักเลือกรักดิบ ที่มีคุณภาพดีมาใช้

ใส่ความเห็น